ภาพ : mainichi
การกักตัวและ work from home ในช่วงโควิดทำให้เทรนด์การกินของชาวญี่ปุ่นบางส่วนเปลี่ยนไป บรรดาบริษัทอาหารเริ่มปรับตัวตามเทรนด์ ออกผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน อาหารสายเฮลตี้จำพวกลดน้ำหนัก ควบคุมพฤติกรรมการกินได้รับความนิยมมากกว่าอาหารชนิดอื่น
Pokka Sapporo Food & Beverage Ltd. บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่สำรวจพฤติกรรมการกินของกลุ่มตัวอย่าง 337 คน ช่วงอายุ 20-40 ปีและทำงานที่บ้านอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ในช่วง Work from home เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามากกว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามกินอาหารอย่างน้อย 4 มื้อต่อวัน และไม่แยกเลยว่าที่กินอยู่นั้นเป็นมื้อหลักหรือเป็นของว่าง (24%ของผู้ทำแบบสำรวจตอบว่ากิน 4 มื้อ 17.8% ตอบกิน 5 มื้อ 4.5% กิน 6 มื้อ และ 5.6% กินอย่างน้อย 7 มื้อ ทั้งหมดคิดเป็น 51.9% ส่วน 48.1% ตอบว่ากิน 3 มื้อหรือน้อยกว่า)
Pokka Sapporo วิเคราะห์ว่าคนมักจะกินตอนที่สะดวกหรืออยู่คนเดียวที่บ้าน ไม่มีใครมากวน และมากกว่า 40% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะกินของกินที่คล้ายเป็นอาหารมื้อหลักแทนสแน็กเลยด้วยซ้ำ Pokka กล่าวว่า “เราพบว่าไปๆ มาๆ ทุกวันนี้พวกสแน็กของว่างทั้งหลายจะไม่ใช่ขนมชิ้นเล็กๆ ง่ายๆที่ไว้กินเติมพลังแล้ว แต่จะเป็นของกินที่ดูกินจริงจังมากขึ้น และการกินก็ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น พิธีรีตองน้อยลง”
หลังจากสำรวจแล้ว ทางบริษัทได้ออกสินค้าออกมา 2 อย่าง คือ Torori’s และ Jyaganeru เป็นขนมขบเคี้ยวอร่อยสุดๆ แถมกินง่าย มาในแพ็กเกจจิ้งถ้วยบะหมี่ Torori’s เป็นข้าวใส่ซอสเข้มข้น ส่วน Jyaganeru เป็นมันบด
Shinichi Soya ประธาน Pokka Sapporo ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีอะไรเป็นคำตอบสูตรสำเร็จหรอก โลกกำลังเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญคือคอยออกโปรดักต์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าฟีดแบ็กมาดีกว่า”
เทรนด์ใส่ใจสุขภาพที่บูมมาตั้งแต่ก่อนโควิด พอโรคร้ายระบาดเลยยิ่งช่วยดันโปรดักต์ในกลุ่มนี้ให้โตยิ่งขึ้นทั้งอาหารและเครื่องดื่ม เอเนอร์จี้บาร์ขายดิบขายดีเอามากๆ เพราะชาวยุ่นกลัวน้ำหนักขึ้นจากการกักตัวอยู่บ้าน เจ้าแท่งโปรตีนให้พลังงานของ Asahi Group Goods Ltd. มียอดขายเพิ่มขึ้น 46% ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว เพราะคนต้องทำงานที่บ้าน ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้เดินทาง แทบไม่มีกิจกรรมเผาผลาญพลังงาน เอเนอร์จี้บาร์คุมน้ำหนักจึงตอบโจทย์มาก ยืนยันได้จากเสียงของสะดวกซื้ออย่าง Lawson Inc. บอกรสรำข้าวสาลีที่มีน้ำตาลน้อยขายดีมากๆ ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มตัวที่ยอดขายพุ่งคือเครื่องดื่มให้วิตามินหรือเสริมสร้างสุขภาพ เช่น iMuse Water ของ Kirin ซึ่งเคลมว่าช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายเพราะมีจุลินทรีย์โปรไบโอติก
iMuse Water จาก Kirin
enegy bar ของ asahi group
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า บริษัทอาหารควรจะพัฒนาโปรดักต์ที่เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีดีมานด์อาหารที่ช่วยให้น้ำหนักไม่ขึ้น เพราะคนไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเนื่องจากต้องทำงานที่บ้าน บริษัทอาหารควรคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาตอบโจทย์ตรงนี้
อัตราการเจริญเติบโตในยอดขายของอาหารแช่แข็ง
ภาพ : Euromonitor International
อาหารอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นคืออาหารแช่แข็งและเครื่องปรุงสำเร็จรูปเนื่องจากประหยัดเวลาในการทำ และแม้ว่าสถานการณ์โควิดอาจจะกลับมาเป็นปกติในอนาคต แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเทรนด์การ work from home จะยังคงอยู่ต่อไป บริษัทอาหารหลายแห่งจึงหันมาทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาอาหารสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็งมากขึ้น อีกเหตุผลที่ทำให้อาหารประเภทนี้บูมขึ้นคือเทรนด์ซื้ออาหารและของแห้งตุนไว้ ซึ่งปกติแล้วการตุนอาหารดูจะเป็นพฤติกรรมแปลกที่คนทั่วไปไม่ทำกัน แต่สถานการณ์โควิดได้เปลี่ยนแนวคิดนี้ไปอย่างสิ้นเชิง การแห่กันไปซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นภาพที่เราเห็นกันจนชินตา และแม้ว่าบ้านญี่ปุ่นจะเล็กแสนเล็ก แต่เทรนด์การตุนอาหารและของใช้ไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไปเสียแล้ว เพราะทุกวันนี้ ในโลกยุคโควิด…ญี่ปุ่นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แปล สรุป และเรียบเรียงจาก
https://mainichi.jp/english/articles/20200819/p2a/00m/0na/009000c?yclid=YJAD.1598286451..pwqu9Odcq0yJkFAXq00Z0FZBkwoFobIHEcA4YPheDN622ZO5PdP1g4X9Tr02A--
https://blog.euromonitor.com/the-consumer-impact-of-coronavirus-in-japan/