สื่อญี่ปุ่นยกอาสาสมัครหมู่บ้านเป็นฮีโร่ผู้ช่วยรับมือโควิดในไทย

1,604
Screen Shot 2563-06-05 at 5.10.35 PM

ภาพ : Reuters


 นางสุรินทร์ มากระดี (ขออภัยหากสะกดชื่อไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการแปลมาจากภาษาอังกฤษ) อายุ 77 ปี เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในจังหวัดอ่างทองมา 38 ปีแล้ว กิจวัตรประจำวันของเธอคือเดินเคาะประตูบ้านทีละหลังในหมู่บ้านเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ และคอยเตือนให้คนในหมู่บ้านที่กลับมาจากจังหวัดอื่นหรือต่างประเทศต้องกักตัว 14 วัน

“ฉันมองว่าคนในหมู่บ้านเป็นครอบครัวฉัน บ้านฉัน ถ้าฉันไม่สอนวิธีปฏิบัติตัว พวกเขาก็จะไม่รู้ว่าตัวเองอาจจะเสี่ยงติดโรคกันได้ คนที่กลับมาจากที่อื่นก็ต้องกักตัวแยกจากคนในบ้านด้วย”

เครือข่ายอสม.ใหญ่ครอบคลุมทั้งประเทศ มีสมาชิกมากกว่า 1,000,000 คน และมีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ยุคสงครามเย็น แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังยกย่องว่าอสม.คือมดงานผู้ปิดทองหลังพระ เป็นฮีโร่ตัวจริงผู้ต่อสู้กับโควิด-19 ในไทย Daniel Kertesz ตัวแทนจาก WHO ให้ความเห็นว่า “อสม.ประจำหมู่บ้านคือฮีโร่ที่คอยควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด เฝ้าระวัง และรายงานการติดเชื้อ”

นอกจากคอยวัดอุณหภูมิแล้ว อสม.ยังรวบรวมประวัติผู้ป่วยและข้อมูลต่างๆส่งให้รัฐบาล คอยเฝ้าระวังการระบาดในวงกว้าง

Screen Shot 2563-06-05 at 6.30.18 PM

ภาพ : Reuters

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านถูกตั้งขึ้นในปี 2520 ระหว่างช่วงสงครามเย็น ส่วนมากแล้วมักเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขทางการเช่น โรงพยาบาลหรือคลินิก โดยระยะแรกเป็นการทดลองใช้ใน 20 จังหวัด ปรากฏว่าให้ผลตอบรับดี จึงเป็นโครงการที่ดำรงอยู่มาถึงปัจจุบัน อสม.มีหน้าที่ให้ความรู้พื้นฐานเรื่องสุขภาพ การตรวจอาการเบื้องต้น อสม.ผ่านการป้องปรามโรคมาหลายโรค ทั้งไข้หวัดนก ไข้เลือดออก จนกระทั่งโควิด-19

ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรตม์วิเคราะห์ว่า “พวกเขาเป็นเหมือนคนเฝ้าประตูเข้าหมู่บ้าน คอยช่วยดูแลเรื่องสุขอนามัยพื้นฐาน  มีบทบาทสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัจจัยและทรัพยากรทางสาธารณสุขจำกัด แล้วยิ่งในทศวรรษต่อมาช่วง 2530s อสม.ช่วยวางรากฐานสุขภาพของชาวบ้านในท้องถิ่น พอช่วงไข้หวัดนกในยุค 40s ก็เป็นอสม.หมู่บ้านเหล่านี้ช่วยควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค แต่ในระยะ 10 ปีมานี้ดูเหมือนจะลดบทบาทความสำคัญลง จนมาช่วงโควิดนี่แหละ”

ทิฆัมพร กิ่งเพชร อายุ 60 ปี คนหมู่บ้านเดียวกับคุณสุรินทร์ เพิ่งกลับจากภูเก็ตและกำลังอยู่ในช่วงกักตัวพูดว่า “อสม.เหมือนเป็นมดงานที่ช่วยกันทำงาน คอยแนะนำและให้คำปรึกษาชาวบ้านในหมู่บ้าน”

อสม.แต่ละรายจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งอาจไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงพื้นที่และความเสี่ยงติดโรค แต่อสม.หลายรายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความสุขใจจากการช่วยป้องกันโรค ดูแลสาธารณสุขในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ได้มากกว่าเงินเพียง 1,000 บาท ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม.คือคนตัวเล็กตัวน้อยที่ช่วยให้ประเทศเราผ่านพ้นวิกฤตโควิดในช่วงการระบาดหนักระลอกแรกไปได้

 


แปล สรุป และเรียบเรียงจาก

https://www.japantimes.co.jp/news/2020/06/04/asia-pacific/thailand-1-million-coronavirus-volunteers/?fbclid=IwAR0FEh_Z2pR3-tYzvNa9k2VWkjc0V3tF8gontjloawi_Oyz77hUYNuaO0jw#.XtoZEp4zbeR

https://workpointnews.com/2020/04/25/village-health-volunteers/

https://www.thaipost.net/main/detail/64503


Monthefatcat