โควิดทำให้เกิดเทรนด์ย้ายออกจากเมืองใหญ่ กลับไปอยู่ต่างจังหวัด

1,820
Screen Shot 2563-08-14 at 3.59.30 PM

ภาพ : Kyodo


ปัจจุบันโตเกียวมีประชากรมากถึง 14 ล้านคน อัตราความหนาแน่นประชากรสูงขึ้นมาหลายปีแล้ว คนหนุ่มสาวอยากย้ายเข้ามาในเมืองหลวงแห่งนี้เพราะโอกาสทางการศึกษา อาชีพการงานที่มากกว่า ร้านรวง ศูนย์การค้า และร้านกินดื่มยามค่ำคืนก็มีให้เลือกหลากหลาย ให้ไลฟ์สไตล์ที่มีสีสันสนุกสนานมากกว่าต่างจังหวัดอันเงียบเหงา แต่โควิดกำลังจะเปลี่ยนค่านิยมนี้

        ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโตเกียวสูงมาตลอด เป็นจังหวัดที่ทำยอดโควิดสูงที่สุดในประเทศ วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม โตเกียวรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ประจำวันอยู่ที่ 389 เคส นับว่าสูงที่สุดของสัปดาห์ (ยอดวันพฤหัสบดีอยู่ที่ 206 เคส และยอดที่สูงที่สุดคือ 429 เคสเมื่อวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา) ซึ่งคาดว่าสาเหตุที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงเนื่องมาจากมีการตรวจ PCR มากขึ้น

การระบาดของโควิดอาจเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารรายงานสถิติประชากรย้ายเข้ามาอาศัยในโตเกียวประจำปี 2562 ไว้ว่ามีทั้งหมด 470,000 คน เป็นประชากรช่วงวัย 18-29 ปีประมาณ 250,000 คน คิดเป็น 50% ของยอดทั้งหมด สำหรับคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้มีถิ่นฐานในเมืองใหญ่ เหตุผลหลักในการย้ายมาอยู่โตเกียวคือโอกาสทางการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาใหญ่ๆที่มีให้เลือกมากกว่าชนบท ปัจจัยนี้คิดเป็น 37% เหตุผลอื่นๆ คือคนหนุ่มสาวรู้สึกว่าโตเกียวมีโอกาสต่างๆ ในชีวิตมากกว่า และชอบไลฟ์สไตล์ของเมืองใหญ่มากกว่าชนบท กว่า 90% ของนักศึกษาพอเรียนจบแล้วก็ยังคงหางานทำและอาศัยอยู่ในเมืองหลวงนี้ต่อไป

แต่สำหรับชาวโตเกียวบางส่วน การย้ายไปมีชีวิตที่เรียบง่ายกว่าในชนบทเป็นความฝันหนึ่ง ผลสำรวจจากนักศึกษา 7,000 รายของบริษัทจัดหางาน Mynavi Corp. กลับแสดงให้เห็นว่าเด็กจบใหม่หลายคนอาจตัดสินใจย้ายออกจากโตเกียวถ้าพวกเขามีทางเลือก มีโอกาสหางานที่จังหวัดอื่น กว่า 54.8% ตอบว่าพวกเขาอยากได้งานในบริษัทที่อยู่ต่างจังหวัด มี 15.1% ตอบว่าเลือกอยู่โตเกียว รัฐบาลเพิ่งทำเซอร์เวย์เมื่อเดือนมิถุนายนมุ่งสำรวจคนอายุช่วง 20s ในเมืองใหญ่ 3 เมืองคือโตเกียว โอซาก้า และนาโกย่าว่าอยากย้ายออกจากเมืองหรือไม่ในช่วงโควิด คนช่วงอายุ 20s และ 40s ตอบว่าอยากย้ายไปเมืองอื่น

การย้ายกลับไปยังต่างจังหวัดเป็นผลดีต่อท้องถิ่นทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น ชาวโตเกียวที่ย้ายกลับมาจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในท้องถิ่นได้ ทำให้เศรษฐกิจเมืองดีขึ้น การจ้างงานมากขึ้น  ส่วนในระยะยาวจะช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำอันเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน ในขณะที่อัตรารายได้ของประชากรในโตเกียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 24 ปี แต่อัตราการเกิดกลับไม่กระดิกเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการคลอดสูง อีกทั้งค่าเช่าบ้านแพง ไม่เหมาะกับการมีลูก ปี 2561 มีอัตราการเกิดอยู่แค่ 1.20 ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในญี่ปุ่น ดังนั้นการอนุญาตให้พนักงาน work from home จากบ้านในต่างจังหวัดได้จึงช่วยดึงดูดใจให้คู่รักที่อยากมีลูกย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งสุดท้ายจะช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำและขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นได้

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะตระหนักถึงเทรนด์นี้จึงได้ประกาศแคมเปญท้องถิ่นเข้มแข็งประจำปี 2020 ออกนโยบายสนับสนุนกลุ่มธุรกิจให้เปิดสำนักงานใหญ่ที่ต่างจังหวัดและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในออฟฟิศให้ work from home ได้ ส่วนราชการของแต่ละจังหวัดมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวก จัดหาสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษา ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบสาธารณสุข เพื่อดึงดูดคนเจเนอเรชั่นใหม่ๆให้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในต่างจังหวัด

Screen Shot 2563-08-14 at 5.35.26 PM


หลายบริษัทก็เริ่มปรับตัวให้เข้ากับค่านิยมใหม่แล้ว Lancers Inc. บริษัท IT ในชิบูยะ อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดในเดือนกุมภาพันธ์

Shoki Horokawa อายุ 27 ปี พนักงานในบริษัทดังกล่าวเล่าว่า “ทำงานที่บ้านนี่สบายมาก ผมไม่มีปัญหาอะไรเลย ไม่ว่าจะทำโปรโมชั่นขายของหรือประชุมออนไลน์ ถ้าเทียบกับไปทำที่ออฟฟิศหรือพบปะลูกค้า การ work from home ก็แทบจะไม่ต่างกัน” สำหรับเขาแล้ว การได้ทำงานที่บ้านเกิดในจังหวัดเซนไดเป็นเหมือนฝันที่เป็นจริง เพราะเขาเองคิดจะย้ายกลับเซนไดตั้งแต่ตอนมาทำงานที่โตเกียวใหม่ๆ แล้ว ทางบริษัทก็ให้น้ำหนักกับการ work from home มากขึ้น เห็นได้จากการรับพนักงานใหม่ๆ เป็นวิศวกรจากต่างจังหวัด เช่น นากาโนะและโอซากะ

ตั้งแต่โควิดระบาดเป็นต้นมา หลายบริษัทปรับตัวมาให้พนักงาน work from home มากขึ้น หอการค้าและอุตสาหกรรมของโตเกียวรายงานว่าได้ทำการสำรวจบริษัท 1,111 แห่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน กว่า 70% ตอบว่าให้พนักงาน work from home ได้ เพิ่มขึ้น 40% จากเมื่อเดือนมีนาคม ส่วนบริษัทใหญ่อย่าง Hitachi, Nippon Telegraph, Telephone Corp. ส่งสัญญาณว่ากำลังมีแผนจะให้พนักงาน work from home ในเร็วๆ นี้

โควิดเป็นปัจจัยให้เกิดการตั้งคำถามว่ามาถึงยุคสมัยนี้แล้ว บริษัทควรจะปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้นหรือไม่ เช่น พนักงานจำเป็นต้องเดินทางเทียวไปเทียวมาเพื่อไปประชุมคนละจังหวัดอยู่อีกหรือทั้งที่สามารถทำผ่านออนไลน์ก็ได้ บางบริษัทก็ปรับลดขนาดบริษัทให้เล็กลง

ClipLine Inc. บริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่นตัดสินใจไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่ของออฟฟิศขนาด 600 ตารางเมตรเพื่อย้ายไปออฟฟิศใหม่ที่ขนาดเล็กลงกว่าครึ่งในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้

ประธานบริษัท Hayato Takahashi วัย 45 ปีกล่าวว่า “พนักงานของเราจะทำงานที่ไหนก็ได้แล้วแต่ไลฟ์สไตล์และเงื่อนไขในชีวิตของเขาเลยครับ เขาอาจจำเป็นต้องดูแลพ่อแม่หรือเลี้ยงลูกไปด้วย”

แต่นักวิชาการบางคนก็เห็นต่าง Toru Hyakushima นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัย NLI ให้ความเห็นว่า “มันก็จริงที่บริษัทสมัยใหม่หลายบริษัทปรับวิถีการทำงานให้ยืดหยุ่นและหลากหลายขึ้น ไม่ต้องเข้าออฟฟิศเป็นเวลาประจำทุกวัน เป็นเหมือนการปฏิวัติรูปแบบการทำงานเลย ช่วยให้ทำงานได้สะดวกสบายมากขึ้น พนักงานก็แฮปปี้ ทำงานได้รวดเร็วขึ้น อาจช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

แต่ในอีกด้านหนึ่งโลกออนไลน์ที่ไม่มีโอกาสพบหน้าค่าตากันตัวเป็นๆ ก็เป็นปัจจัยจำกัดไอเดียหรือการครีเอทอะไรใหม่ๆเหมือนกันนะครับ ผมมองว่าการมีปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้า ได้พูดคุย สัมผัสอารมณ์ สีหน้า ความรู้สึกกันจริงๆ นั้นสำคัญมากเหมือนกันครับ”


แปล สรุป และเรียบเรียงจาก

https://english.kyodonews.net/news/2020/08/b4d200fc2b9c-focus-pandemic-could-take-shine-off-moving-to-tokyo-for-work.html

https://english.kyodonews.net/news/2020/08/ebdfbed2164c-breaking-news-tokyo-reports-389-new-cases-of-novel-coronavirus.html

https://asia.nikkei.com/Opinion/Can-COVID-19-crisis-trigger-the-revival-of-regional-Japan


Monthefatcat