-ห่างจากโตเกียวในระยะนั่งรถไฟเพียง 54 นาที- 1 ชั่วโมง
-ระยะเดินจากสถานี Ofuna ไปยังวัดคือ 350 เมตร ต้องขึ้นเนิน ไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องนั่งรถเข็น
- ใช้เวลาเยี่ยมชมรวมประมาณ 30-40 นาที
- มีห้องน้ำสะอาดภายในบริเวณวัด แต่ไม่มีอาหารจำหน่าย
- ระดับความฮิตน้อยถึงน้อยมาก จำนวนนักท่องเที่ยวจึงบางตามาก ตอนเราไปคือช่วงใบไม้เปลี่ยนสี ยังมีเพื่อนร่วมสักการะองค์กวนอิมอยู่ราว 15 คนทั้งวัด
พระพุทธรูปเจ้าแม่กวนอิมจากบริเวณสถานีรถไฟ
Ofuna ในปัจจุบันเป็นโซนชานเมือง Kamakura ที่เป็นจุดตัดระหว่างสายรถไฟและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน แต่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ หลายแห่ง เช่น ถ้ำนั่งสมาธิฝึกตนในศาสนาพุทธอย่างถ้ำ Taya no Dokutsu , สวนพฤกษศาสตร์ Kanagawa Kenritsu Flower Center Ofuna Botanical Gardens และ Ofuna Kannon Temple ที่เราจะพาเที่ยวกันในวันนี้
โดยส่วนมากแล้ว นักท่องเที่ยวมักจะผ่านสถานีนี้ไปและมุ่งหน้าตรงไปยังเมือง Kamakura เลยทำให้ Ofuna ออกจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ติดจะอินดี้เล็กน้อย
Ofuna Kannon Temple ตั้งอยู่บนเนินเขา Mugasozan หรือบางครั้งเรียกว่า Kannonyama แปลว่าภูเขาของเจ้าแม่กวนอิม คำว่า Kannon ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ผู้ที่ได้ยินเสียงจากโลก เจ้าแม่กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นสัญลักษณ์แทน ความเมตตา ความผสมกลมกลืน ความสามัคคี และสันติภาพ
โครงการก่อสร้างวัดแห่งนี้เริ่มขึ้นในปีค.ศ. 1934 แต่หยุดชะงักลงเนื่องจาก สงครามโลกครั้งที่ 2 จนอีก 20 ปีต่อมา หัวหน้านักบวชจากนิกาย Sato ของเซ็นร่วมกับสมาคม Ofuna-Kannon Society รื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปีค.ศ. 1954 ใช้เวลา 6 ปีจนแล้วเสร็จในปีค.ศ.1960 องค์พระพุทธรูปสูง 25 เมตร หนักเกือบถึง 2,000 ตัน สร้างจากคอนกรีตที่เทด้วยมือทั้งหมด บนพระนลาฏ (หน้าผาก) ประดับอัญมณีสีแดงเรียกว่า Byakugo เป็นสัญลักษณ์แทนแสงสว่างที่ให้กับโลก สามารถมองเห็นองค์กวนอิมได้จากสถานี Ofunaเราเดินทางไป Ofuna Kannon Temple พอถึงสถานีแล้วเดินตามขั้นตอนนี้นะคะ
1.ออกทางออกตะวันตก (west exit) ลงบันไดมาจะเห็นแม่น้ำ Kashio River (แต่เราจะเห็นเป็นแค่คลองนะคะ ไม่ใหญ่ มีสะพานข้ามอยู่)
2.เดินข้ามสะพานไปจะเห็น Lawson’s อยู่ทางขวา เดินมุ่งไปที่ Lawson’s ค่ะ
บนสะพานข้ามแม่น้ำ Kashio จะเห็นร้าน Lawson’s ทางขวามือ
3.พอสุดปลายของร้าน Lawson’s ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปในซอยเลยนะคะ
ตรอกทางเข้าวัดด้านข้าง Lawson’s
4.เดินตรงเข้าไปในซอยจะเป็นทางบังคับเลี้ยวซ้าย ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปจนเห็นทาง แยก 2 ทาง เดินขึ้นเนินทางขวาค่ะ ตามธงสีแดงไปเรื่อยๆ จะเจอทางเข้าใหญ่ของวัดค่ะ
ทางเดินขึ้นเนินเพื่อเข้าวัด เดินทางขวานะคะ ทางซ้ายจะไปออกถนนใหญ่เพื่อกลับสถานี
**ต้องเดินตามเส้นทางนี้เท่านั้นนะคะหลังจากออกจากสถานีรถไฟ ตอนที่ข้ามถนนจากสะพานห้ามเลี้ยวซ้าย ต้องเลี้ยวขวาเพื่อไปทาง Lawson’s เท่านั้นค่ะ เพราะไม่มีทางเข้าอื่น ลึกลับซับซ้อนนิดนึงค่ะ ถ้าใครมีผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น ไม่แนะนำให้มาค่ะ เพราะทางเข้าวัดมีเฉพาะการเดินขึ้นเนินเท่านั้น ไม่แน่ใจว่าเรียกแท็กซี่ขึ้นมาได้หรือไม่ แต่ไม่เคยเห็นแท็กซี่ขึ้นมาค่ะ**
พอถึงแล้วต้องจ่ายตั๋วค่าเข้าวัดเป็นเงิน 300 เยนต่อคนค่ะ (เด็ก 100 เยน) เดินเข้ามาตรงลานกรวดข้างอาคารจะเห็นหินหลายก้อนอยู่ตีนบันไดที่จะขึ้นไปสักการะเจ้าแม่กวนอิม หินเหล่านี้นำมาจาก Ground Zero (พื้นที่ประสบภัยพิบัติระเบิดนิวเคลียร์) ของฮิโรชิมะและนางาซากิเพื่อระลึกถึงจิตวิญญาณของเหยื่อที่เสียชีวิตจากปรมาณู และเป็นสัญลักษณ์แสดงสันติภาพ ใกล้ๆ กันยังมีเสาหินซึ่งจุดไฟไว้ตลอด (Flame of the Atomic Bomb) เป็นสัญลักษณ์แทนเปลวไฟที่เผาผลาญชีวิตผู้คนจากระเบิดปรมาณูทั้ง 2 ลูก
ไฟแห่งปรมาณู (ซ้ายสุด) เพื่อระลึกถึงเหยื่อนิวเคลียร์
ระหว่างทางขึ้นบันไดเพื่อไปสักการะเจ้าแม่กวนอิม จะเห็นรูปปั้นเทพจิโซ (Jizo) วางเรียงรายอยู่ตลอดทาง จนถึงองค์กวนอิมสีขาวสะอาดตาในบรรยากาศเงียบสงบ
รูปปั้นเทพจิโซวางเรียงรายอยู่ระหว่างบันไดทางขึ้นไปสักการะเจ้าแม่กวนอิม
พระพุทธรูปพระโพธิสัตว์
พอเราไหว้องค์กวนอิมเสร็จ เราจึงเดินไปด้านหลังของพระพุทธรูปเพื่อสักการะด้านใน มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ พระพุทธรูปองค์เล็ก และสมุดเยี่ยมให้เราได้เขียนคำขอบคุณกับคำอธิษฐาน
พระพุทธรูปด้านในองค์กวนอิม
เทพจิโซภายในองค์กวนอิม
นกกระเรียนกระดาษสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ
เมื่อเสร็จจากการสักการะแล้ว เราแวะซื้อเครื่องรางและพระพุทธรูปจำลองเพื่อนำไปสักการะที่บ้าน เราเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดนี้ด้วยความรู้สึกอิ่มใจ อาจเพราะไม่คาด คิดว่าวัดเล็กๆ แห่งนี้จะมีบรรยากาศเงียบสงบ เรารู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ดำรงอยู่ โดยได้รับความเมตตาจากองค์พระโพธิสัตว์ ถ้ามีโอกาสได้แวะมา Kamakura และไม่ลำบากเกินไป เราแนะนำให้แวะมาสักการะเจ้าแม่กวนอิมที่วัดนี้ ได้ความอิ่มใจกลับไปอย่างแน่นอนค่ะ
- หากต้องการจะเดินทางกลับไปโตเกียว หรือไปเที่ยว Kamkakura ต่อ ให้กลับไปขึ้นรถไฟที่สถานี Ofuna
- ที่วัดนี้จะจัดเทศกาล Yume-Kannon Festival เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกันยายน จะมีนักบวชพุทธจากทั่วทั้งเอเชียเพื่อแสดงวัฒนธรรมประจำชาตินั้นๆ มีแผงขายอาหาร การแสดงดนตรีและการเต้นรำท้องถิ่น โดยมากแล้วจะเป็นนักบวชและ พุทธศาสนิกชนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และศรีลังกา
-บางครั้งก็เรียก Byakue Kannon หมายถึงเทพเจ้าที่สวมชุดคลุมสีขาว
-การบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชียตะวันออก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าผู้เป็นที่รักมากที่สุดในหมู่เทพเจ้า จึงได้รับการบูชาในวัดสำคัญๆ ต่างๆ เช่น วัดชิเท็นโนจิที่โอซาก้า, วัดเซ็นโซจิที่โตเกียว, วัดคิโยมิสึเดระที่เกียวโต
-พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในญี่ปุ่นปรากฏในรูปปรากฏที่หลากหลาย แต่โดยส่วนมากเป็นหญิงสวมชุดคลุมสีขาวและอุ้มเด็ก