
การเดินทางมาจาริกแสวงบุญบน Koyasan ในครั้งโบราณนั้นทำได้วิธีเดียวคือการเดินขึ้นเขาเพื่อปลีกวิเวก ถึงแม้จะมีการคมนาคมที่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและชาวเมือง แต่พระสงฆ์บนเขาก็ยังใช้การเดินธุดงค์เหมือนเมื่อครั้งอดีต

ในครั้งที่ยังไม่ Cable car และรถโดยสารประจำทางนั้น การเดินขึ้นมาจาริกแสวงบุญต้องผ่านประตูไม้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีอายุหลายร้อยปีที่มีนามว่า Daimon - ประตูสู่ยอดเขาแห่งเพชร Koyasan ประตู Daimon นอกจากจะมีความเก่าแก่มีอายุหลายร้อยปีแล้ว ยังถือเป็นศาสนสถานที่ถูกบรรจุเข้าเป็นสมบัติสำคัญทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอีกด้วย คาดกันว่า ประตู Daimon สร้างขึ้นครั้งแรกราวศรรตวรรษที่ 11 ใช้เป็นประตูหลักเพื่อผ่านเข้าสู่วัดต่างๆบน Koyasan ประตูที่เห็นในปัจจุบันนั้นสร้างขึ้น ในปี 1705 แทนที่ประตูดั้งเดิม ลักษณะประตูจะเป็นอาคารสองชั้นมีความสูงราว 25 เมตร ชั้นล่างมีทวารบาลสองตนที่สร้างขึ้นจากการแกะสลักไม้มีชื่อว่า Un-gyo และ A-gyo

เมื่อผ่านประตู Daimon เข้ามาแล้ว เราจะเจอกับบรรยากาศเรียบง่ายของเมืองเล็กๆ ที่ดูสงบแต่กรุ่นไปด้วยกลิ่นอายแห่งพระพุทธศาสนา แน่นอนว่าพื้นที่แทบทั้งหมดบน Koyasan นั้นเต็มไปด้วยวัดใหญ่และวัดเล็กนับร้อยที่มีที่ตั้งคละไปกับบ้านเรือนของชาวบ้านบนภูเขา

จุดหมายปลายทางที่สำคัญมากอีกแห่งบน Koyasan คือวัด Okuno-in ที่นี่นอกจากจะเป็นวัดที่มีอาณาบริเวณใหญ่ที่สุดบน Koyasan แล้วยังมีพื้นที่สำหรับปักป้ายหลุมศพของขุนนางและคหบดี ตั้งแต่ยุคโบราณกาลจวบจนปัจจุบันโดยเชื่อกันว่ามีป้ายหลุมศพทั่วบริเวณวัดนับแสนหลุมทีเดียว

ช่วงต้นทางของทางเดินขึ้นไปสู่วัด Okuno-in เราจะเจอศาลเจ้า Eireiden ซึ่งสร้างขึ้นเป็นศาลาที่สถิตย์ของวีรบุรุษที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ระหว่างทางนอกจากจะมีพระพุทธรูปที่สลักจากหินมาประดิษฐานตามที่ต่างๆ ทั่วไปแล้ว ก็จะมีทั้งป้ายวิญญาณ ศาลเจ้าเล็กๆ และเสา Torii หินเก่าแก่ที่สร้างขึ้นสลับกันไปในพื้นที่ป่าสน

เดินเข้ามาอีกครู่ใหญ่เราจะเข้าสู่อาณาจักรแห่งความร่มเย็นที่อยู่ภายใต้ร่มเงาและความเงียบสงบของป่าสนพันปี (คงไม่เป็นการกล่าวกันจนเกินไปนัก เพราะขนาดของต้นสนส่วนใหญ่ของที่นี่มีขนาดอวบๆ แบบหลายคนโอบให้เห็นโดยทั่วไป) มีทางเดินลาดปูด้วยหินมีความยาวราว 2 กิโลเมตรพาดผ่านป้ายหลุมศพเพื่อขึ้นไปยังศาลาหลักของวัด Okuno-in

เมื่อเดินมายังสุดทางเราจะพบสะพาน Gobyo-no-hashi ที่นำเราไปสู่ศาลของท่า Kobo Daishi ตัวสะพานขึ้นจากแผ่นหิน 36 แผ่นขณะที่นับตัวสะพานทั้งสะพานเป็นหินชิ้นที่ 37 แผ่นหินที่นำมาประกอบเป็นสะพานได้จารึกชื่อพระโพธิ์สัตว์เอาไว้ด้านใต้และถ้าโชคดีพอ เราจะสามารถเห็นจารึกนั้นสะท้อนผ่านท้องน้ำด้านใต้สะพานเมื่อเราเดินข้ามไป สำหรับการข้ามสะพานนั้นมีพิธีรีตรองนิดหน่อย ขั้นแรกทำจิตใจให้สงบและบริสุทธิ์ ก่อนที่จะโค้งเพื่อทำความเคารพต่อศาลเจ้าแล้วจึงเดินข้ามไป มีตำนานเล่าสืบมาว่า แท้จริงแล้วท่าน Kobo Daishi ไม่ได้มรณภาพ

ขากลับเมื่อเยี่ยมชมศาลเจ้าเสร็จก็ทำวิธีเดียวกันหลังจากได้ก้าวข้ามมายังปลายสะพานอีกด้านหนึ่ง สำหรับช่างภาพแล้วเราเรียกสะพานแห่งนี้ว่าสะพานสิ้นสุดการถ่ายภาพเพราะไม่ว่าคุณจะพกกล้องเล็กกระจิ๋วหลิวหรือกล้องใหญ่เทพเมพเว่อร์ดูมีสกุลรุนชาติขนาดไหน กิจกรรมการถ่ายภาพทุกชนิดทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แนวตั้ง แนวนอนหรือเอียงๆ ยืนนั่งนอนถ่าย คงต้องหยุดไว้ที่ปลายสะพานด้านนอกนี้เท่านั้น เพราะวัด Okuno-in ห้ามการบันทึกภาพทั้งภายนอกและภายในอาคารหลังจากที่ก้าวข้ามสะพานไปแล้วและเรานักท่องเที่ยวผู้เจริญ...พึงอยู่ในกิริยามารยาทอันดีและพร้อมเพรียงปฏิบัติตาม

สำหรับดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมหนึ่งพันสองร้อยปีและยังเป็นพื้นที่มรดกโลกในเขตอนุรักษ์ขององค์การ UNESCO แห่งนี้ยังคงความสมบูรณ์ทั้งทางธรรมชาติ สถาปัตยกรรม วิถีชิวิตของผู้คนทั้งทางธรรมและทางโลก และที่สำคัญ Koyasan ยังไม่พบกับการไหลบ่าของคลื่นมนุษย์นักท่องเที่ยว ไม่ต้องเบียดเสียดยื้อแย่งเหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่่นที่ได้รับความนิยมสูงในญี่ปุ่น เมืองพุทธศาสนาบนเขาสูงแห่งนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การการเดินทางที่ไม่รีบเร่ง รักความสงบท่ามกลางธรรมชาติและพระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบันที่โลกและผู้คนเคลื่อนตัวกันรวดเร็วสับสนและวุ่นวายเรื่องและรูปภาพโดย : From the outside inติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นและภาพที่สวยงามผ่านฝีมือช่างกล้องมืออาชีพได้ที่>>
FB-From the outside in