ภาพ : GETTY IMAGE
UNICEF รายงานว่าเด็กญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยถึงแม้จะมีสุขภาพกายแข็งแรงและเติบโตมาในประเทศร่ำรวย แต่กลับมีสุขภาพจิตย่ำแย่รั้งท้ายตาราง ระดับสุขภาพจิตเด็กญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 37 จากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด 38 ประเทศ (นิวซีแลนด์คืออันดับสุดท้ายเพราะมีรายงานฆ่าตัวตายสูงกว่าญี่ปุ่น) เด็กญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง รู้สึกไม่มีความสุข ขาดความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตนเอง
ปัญหาสุขภาพจิตที่เด็กญี่ปุ่นต้องเผชิญ ได้แก่ การถูกบูลลี่ในโรงเรียน ความห่างเหินและไม่เข้าใจกันกับพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ความโดดเดี่ยวไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครทำให้จิตใจเปราะบางอ่อนแอมากขึ้น
รายงานของ UNICEF วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพกายและจิตใจของเยาวชนในประเทศร่ำรวยพัฒนาแล้ว โดยเก็บข้อมูลก่อนโควิดจะระบาด เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ได้คะแนนเป็น 3 อันดับแรก ในขณะที่ญี่ปุ่นได้อันดับที่ 20 ส่วนสถิติฆ่าตัวตายของวัยรุ่นญี่ปุ่นในปีนี้สูงถึง 659 ราย (จาก 60 รายเมื่อปีที่แล้ว)
ในขณะที่สุขภาพกายของเด็กญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์ดี (ในปี 2559 เด็กญี่ปุ่นอายุ 5-19 ปีป่วยเป็นโรคอ้วนเพียง 14% ในขณะที่อเมริกามีเด็กป่วยเป็นโรคนี้สูงถึง 42%) ความสามารถทางคณิตศาสตร์และภาษาของเด็กญี่ปุ่นสูงถึงอันดับ 5 ของโลก แต่การเข้าสังคม ความมั่นใจในการสร้างมิตรภาพใหม่ๆ กลับได้อันดับเกือบสุดท้าย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของญี่ปุ่น Naomi Ogi เรียกโรงเรียนญี่ปุ่นว่า “นรกแห่งการบูลลี่” เขามองว่าสภาพสังคมที่แข่งขันสูงมากเกินเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ เป็นปัจจัยสำคัญให้เด็กๆ มีปัญหาสุขภาพจิต “ไม่แปลกเลยที่เด็กๆ จะจิตตก ขาดความสุข ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง สับสนในตัวตนในสภาพสังคมแบบนี้”
อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นลดลงมาตลอดระยะเวลา 10 ปีมานี้ แต่จำนวนวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายกลับเพิ่มขึ้น และเป็นกลุ่มอายุเดียวที่เพิ่มขึ้นด้วย แรงจูงใจในการกระทำอัตวินิบาตกรรมมีหลากหลายอย่าง แต่การบูลลี่ในโรงเรียนเป็นสาเหตุหลักและเป็นปัญหาเรื้อรังแก้ไม่ตกมายาวนานในสังคมญี่ปุ่น
โควิด-19 อาจกลายเป็นอีกปัจจัยเสริมให้เกิดการกลั่นแกล้งกันมากขึ้นได้ ด้วยการเลือกปฏิบัติ-ล้อเลียนเด็กที่ติดเชื้อโควิด หรือในทางอ้อมเป็นการบูลลี่เด็กยากจน เด็กที่มีพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดครั้งนี้ เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมแบบรวมกลุ่ม ความแตกต่างจึงเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการบูลลี่ หากเด็กคนใดแตกต่างจากนักเรียนคนอื่นในชั้นเรียน เช่น หน้าตาสวย มีทักษะโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นกีฬาหรือดนตรี พวกเขาจะเป็นเป้าของการบูลลี่ได้ง่าย
ส่วนมากแล้ว เด็กผู้หญิงมักต้องเจอกับการบูลลี่ที่ยาวนานและรุนแรงกว่าเด็กผู้ชาย แม้อาจไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพเหมือนเด็กผู้ชาย แต่เป็นความรุนแรงทางใจ เช่น การถูกนินทา ล้อเลียน ไม่คบหาสมาคม ซึ่งบั่นทอนสุขภาพจิตในระยะเวลาอันยาวนานกว่า และเด็กๆ ที่เป็นเหยื่อก็มักไม่กล้าเปิดอกเล่าปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ให้พ่อแม่ได้รับรู้เพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมการพึ่งตนเอง ไม่ควรนำปัญหาหรือภาระของแต่ละคนไปรบกวนผู้อื่น เด็กๆ จึงมักจมจ่อมอยู่กับความกดดันนี้จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด
แปล สรุป และเรียบเรียงจาก
https://www.dw.com/en/why-is-bullying-so-vicious-in-japanese-schools/a-46074534