ภาพ : Forbes
ในยุค covid-19 หน้ากากอนามัยเป็นไอเท็มติดตัวเสมือนเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายไปแล้ว การใส่แมสก์ทำให้เกิดปัญหาผิวหน้ามากมายหลายอย่างยิ่งในอากาศร้อนผิวหน้าของเราก็เหมือนจะตะโกนว่าฉันไม่ไหวแล้วนะ
คลินิกผิวหนังหลายแห่งในโตเกียวรายงานตรงกันว่าจำนวนผู้ป่วยที่ เข้ามาปรึกษาปัญหาผิวหนังเพิ่มขึ้นมากในช่วงโควิด ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังอักเสบ สิว หรือผื่นแพ้ต่างๆอันเกิดมาจากผิวหน้าแสนบอบบางเสียดสีกับหน้ากากอนามัย
Kotaro Yoshitake หัวหน้าคลินิกผิวหนังและศัลยกรรมในกรุงโตเกียวกล่าวว่า ความชื้นและอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเสียต่อผิวหน้าบริเวณที่ต้องสวมใส่หน้ากาก เพราะต้องเสียดสีกับผิวหน้ากากตลอดเวลา
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คลินิก Kotaro มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากที่สุดตั้งแต่เปิดคลินิกมา เยอะเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ส่วนมากแล้วเข้ามาปรึกษาปัญหาผิวหน้าที่เกิดจากหน้ากากอนามัย คุณหมอ Yoshitake บอกว่าแบ่งออกเป็น 2 เคสใหญ่คือ ผิวอักเสบและปัญหาสิว เคสที่แย่ที่สุดที่เขาเจอคือผิวด้านหลังหูทั้งด้านบนและด้านล่างของใบหูคนไข้ถูกบาดเป็นรอยแดงเพราะเสียดสีกับยางยืดหน้ากากอนามัย
ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่มีกฎหมายหรือบทลงโทษบังคับใช้ให้ต้องใส่หน้ากากในพื้นที่สาธารณะ แต่สังคมก็กดดันให้คุณจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ดี ถ้าไม่ใส่อาจจะถูกลงโทษทางสังคม เห็นได้จากแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #maskpolice บอกเล่าเรื่องราวการถูกเลือกปฏิบัติ รังเกียจ ก่นด่า ดูถูกเพราะไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ยิ่งตอนนี้ญี่ปุ่นยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศแล้ว ทุกคนต้องกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ การใส่หน้ากากอนามัยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้
บริษัทจัดทำโพลสาธารณะจากอังกฤษ YouGov สำรวจว่าในเดือนพฤษภาคมคนญี่ปุ่น 86% จะสวมใส่หน้ากากในที่สาธารณะ เปรียบเทียบกับชาวจีน 82% และชาวอเมริกัน 71% (สำรวจจนถึงวันที่ 22 มิ.ย.) ชาวเยอรมัน 64% (สำรวจถึงวันที่ 18 มิ.ย.) และชาวอังกฤษ 31% (สำรวจจนถึงวันที่ 25 มิ.ย.) ที่สวมใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ เห็นได้ว่าชาวญี่ปุ่นสวมใส่หน้ากากอนามัยคิดเป็นจำนวนและสัดส่วนที่มากที่สุด
1.หาหน้ากากผ้าแฮนด์เมดมาใช้แทนหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง เพราะอ่อนโยนต่อผิวหน้ามากกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป
2.ถอดหน้ากากให้ผิวหน้าได้หายใจบ้าง เวลาที่อยู่ในออฟฟิศ อาจจะไม่ต้องใส่หน้ากากก็ได้ ถ้าคุณมีปัญหาสิวหรือปัญหาผิวอื่นๆ และคุณว่ามั่นใจว่าจะไม่ไอ จาม และรักษาระยะห่างกับคนอื่นได้ คุณก็ไม่จำเป็นจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
3.ทาครีมบำรุงจำพวกมอยซ์เจอไรเซอร์ เนื่องจากผิวหน้าที่อบอยู่ภายใต้หน้ากาก เผชิญกับเหงื่อจะยิ่งแห้ง ขาดความชุ่มชื้น ต้องบำรุงด้วยมอยซ์เจอไรเซอร์ทดแทน มิเช่นนั้นจะอักเสบหรือเป็นสิว (ในบทความจากวารสาร Journal of Wound Care แนะนำเพิ่มเติมว่าควรทามอยซ์เจอไรเซอร์ก่อนใส่หน้ากากผ้าเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง)
ผู้คนยังต้องสวมใส่แมสก์ท่ามกลางอากาศร้อนจัดเกือบ 30 องศาเซลเซียส
ภาพ : Kyodonews
Kaoru Takayama ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Tokyo Medical and Dental University แนะนำคล้ายๆ กันว่าการลดจำนวนชั่วโมงที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยช่วยให้ปัญหาผิวลดลงด้วย เพราะเหงื่อที่ไหลออกมาจนระเหยไปบนผิวหน้าบริเวณที่สวมหน้ากากอนามัยจะทำให้ผิวแห้งและผิวหนังอักเสบได้ หลีกเลี่ยงการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งหันมาใช้หน้ากากผ้าที่อ่อนโยนต่อผิวแทน หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งนั้นถ้าใส่ไม่ถูกวิธีหน้ากากจะเสียดสีบริเวณผิวหนังขณะพูด ทำให้ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ถ้าใส่หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งไปนานๆอาจเป็นผื่นแพ้ได้ เนื่องจากสารเคมีที่เคลือบอยู่บนหน้ากากอนามัยนั้นอาจระคายเคืองกับผิวหน้า หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆก็แนะนำให้ใส่ทิชชู่หรือสำลีรองระหว่างผิวหน้ากับหน้ากากอนามัย
สรุปแล้วหลักเกณฑ์ในการเลือกหน้ากากอนามัยแบบง่ายที่สุดคือเลือกหน้ากากที่พอเหมาะพอดีกับใบหน้าของเรา ถ้าใส่หน้ากากที่ขนาดเล็กเกินไปจะก่อให้เกิดปัญหาผิวหนังได้ หน้ากาก N-95 ที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรองฝุ่นและละอองฝอยขนาดเล็กจะค่อนข้างรัดแน่นบริเวณผิวหน้ามากกว่าหน้ากากแบบอื่น ส่งผลให้เกิดการกดทับต่ออวัยวะและผิวที่บอบบาง เช่น จมูก อาจเป็นผื่นแพ้ได้ง่าย ยิ่งเหงื่อออกแต่ใส่หน้ากากอยู่ ยิ่งทำให้อบ ผิวจะยิ่งแห้งและอ่อนแอมากขึ้น เราคงได้แต่หวังว่าในยุคที่โควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ วิถีชีวิตแบบใหม่บีบบังคับกลายๆให้ชาวโลกต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ในอนาคตคงจะมีการพัฒนาหน้ากากรุ่นใหม่ๆ ซึ่งคงประสิทธิภาพการป้องกัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำร้ายผิวและอวัยวะอื่นๆ ด้วย
แปล สรุป และเรียบเรียงจาก