หลังโควิดระบาด ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นเป็นเป้าถูกบูลลี่มากขึ้น

2,811
Screen Shot 2563-09-21 at 2.35.25 PM

ภาพ : Reuters


ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาดเป็นต้นมา ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติ กีดกัน และได้รับความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น มีรายงานเคสการถูกบูลลี่เนื่องจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์มากขึ้น

ที่จังหวัดโออิตะในเกาะคิวชู นักศึกษามหาวิทยาลัย Ritsumeikan Asia Pacific ชาวอินเดียอายุ 22 ปีเล่าว่าเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขาถูกชายญี่ปุ่น 3 คน อายุช่วง 30 กว่าปีพูดใส่หน้าว่า “พวกคนต่างชาติเวรตะไลห่วยแตก, ไอ้โคโรน่า” ในขณะที่เขากำลังเดินอยู่ในสถานีเบปปุ จังหวัดโออิตะ

แม้ว่าจะมีรายงานนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติติดเชื้อแบบคลัสเตอร์ประมาณสิบกว่าคนในมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนี้ แต่เขาไม่ได้ติดเชื้อไปด้วย เขาจึงพยายามปกป้องตนเองด้วยการอธิบายข้อเท็จจริง แต่ชายญี่ปุ่น 3 คนนั้นไม่รับฟังแล้วพูดว่า “ไปไกลๆเถอะ พวกเราไม่อยากอยู่ใกล้คุณ เราต้องทำ social-distancing นะ” แล้วเหตุการณ์ก็จบลงแบบนั้นโดยเขาไม่มีโอกาสอธิบายโต้แย้งอะไรเลย

อคติทางเชื้อชาติเกิดจากความกลัว หวาดระแวงว่าจะติดไวรัส ขาดความรู้ที่ถูกต้อง และไม่มีโอกาสได้ติดต่อปฏิสัมพันธ์กับสังคมคนต่างชาติ จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นบางส่วนมีความคิดเช่นนี้

Screen Shot 2563-09-21 at 2.32.49 PM

ป้ายประกาศบริเวณสถานีเบปปุขอร้องให้หยุดเลือกปฏิบัติต่อชาวต่างชาติ

ภาพ : Kyodonews


นักศึกษากว่าครึ่งจากมหาวิทยาลัย APU ล้วนเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน (คิดเป็นประมาณ 2,700 คน) ปกติแล้ว นักศึกษาต่างชาติเหล่านี้จะมีโอกาสได้สร้างสายสัมพันธ์กับคนญี่ปุ่นผ่านการทำงานพาร์ทไทม์หรือกิจกรรมนอกหลักสูตรอื่นๆ แต่พอโควิดระบาด ร้านตัดผมและร้านอาหารบางร้านติดป้ายไม่้ต้อนรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว ทางจังหวัดจำเป็นต้องส่งเอกสารย้ำเตือนไปที่เจ้าของร้านค้ากว่า 1,500 แห่งว่า “เรากำลังต่อสู้กับไวรัส ไม่ใช่ผู้คน”

Screen Shot 2563-09-21 at 3.08.25 PM

จดหมายที่เจ้าของร้านอาหารในไชน่าทาวน์ โยโกฮาม่าได้รับ


ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงโควิดกำลังระบาดหนัก ร้านอาหารในไชน่าทาวน์ เมืองโยโกฮาม่า จังหวัดคานากาวะ ก็ได้รับข้อความ จดหมาย หรืออีเมลเช่นกันว่า “ออกไปให้พ้นๆ ญี่ปุ่นซะ”

ในเดือนพฤษภาคม นิตยสาร Fukuoka Now (เป็นนิตยสารหลายภาษา มีทั้งภาษาญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอังกฤษ ตีพิมพ์ทั้งออนไลน์และฉบับปรินต์ติ้ง) สำรวจชาวต่างชาติกว่า 400 คนที่อาศัยในฟุกุโอกะ พบว่าประมาณ 20% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยประสบกับการถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากโควิด

Toshihiro Menju ประธานผู้ดูแล Japan Center for International exchange เชื่อว่าทางแก้ปัญหาอคติทางเชื้อชาติคือการเปิดโอกาสให้ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติได้มีปฏิสัมพันธ์กัน เขากล่าวว่า “ทางการของแต่ละจังหวัดควรปฏิบัติต่อชาวต่างชาติเหมือนๆกับชาวญี่ปุ่น และยังต้องทำคู่มือหรือวางนโยบายเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วย”

 


แปล สรุป และเรียบเรียงจาก

https://english.kyodonews.net/news/2020/09/b7a412698d9e-feature-foreigners-in-japan-becoming-target-of-discrimination-due-to-virus.html

https://mainichi.jp/english/articles/20200307/p2a/00m/0na/004000c


Monthefatcat