ใครที่ยังแรงเหลือ ไม่หนำใจจากตอนแรก มาค่ะ เราไปลุยกันต่อ
ในย่านชินจูกุยังมีตลาดนัดอีกแห่งเป็นตลาดขนาดเล็ก ไม่เกิน 200 แผง จัดที่ตึก Shinjuku Mitsui Building แค่เดือนละสองครั้ง (เสาร์-อาทิตย์) ของที่วางขายมักเป็นสินค้าแฮนด์เมด เครื่องประดับ ของกระจุกกระจิกน่ารักๆ ของแต่งบ้าน หนังสือเก่า ตลาดเปิดเวลา 8.30-15.00 น. (แต่บางวันอาจยกเลิกเพราะฝนตก) ติดตามตารางการจัดงานได้ที่ https://www.shinjukumitsui55info.jp/event/
การเดินทาง : นั่งรถไฟใต้ดิน Toei สาย Oedo Line (สีแดง) ลงสถานี Tocho-mae เดินต่ออีก 230 เมตร หรือรถไฟ JR ลงสถานี Shinjuku เดินต่ออีก 500 เมตร
เป็นตลาดที่สมชื่อ Mottainai ที่แปลว่า รู้สึกเสียดาย จุดตั้งต้นมาจากการรณรงค์ให้นำของรีไซเคิล หรือรียูสมาขายเพื่อลดปริมาณการบริโภคและจำนวนขยะ แบ่งเป็น Mottainai Tetzukuri Ichi ที่เน้นงานแฮนด์เมดทำมือ กับงาน Mottainai Flea Market ซึ่งขายของมือ 2 ที่ไม่ใช้แล้ว ขนาดตลาดประมาณ 100 แผง และจัดเวียนกันไปตามย่านต่างๆ ของโตเกียว อันได้แก่ Akihabara, ห้าง Parco Kichijoji, ชั้นบนสุดของห้าง Ikebukuro, Koenji, Gotanda TOC, Koganei Park (แต่ปัจจุบันในปี 2019 จะไม่มีการออกร้านตลาด Mottainai ที่ Akihabara Udx แล้ว) ปริมาณแผงที่มาออกร้านขึ้นอยู่กับดีมานด์ในย่านนั้น เช่น ตลาดที่อิเคบุคุโระหรือคิจิโจจิจะมีจำนวนแผงมากกว่าที่ Koenji แถมยังรับประกันได้ว่าจะจัดแน่นอน ไม่วายเร็วเพราะมีคนไปช็อปแน่ แต่ที่ Koenji อาจจะเก็บแผงเร็วกว่าเพราะคนมาน้อย
ตลาดนี้มีของขายหลากหลาย ทั้งสินค้าสะสมแบบสายอนิเมะ โอตาคุ ของแฮนด์เมดแบบที่คุณยายนั่งเพนต์ผ้าให้ดูแบบเรียลไทม์ กระเป๋าสตางค์แบรนด์เนม เสื้อผ้ามือสอง ขายกันถูกๆ แบบเน้นวิถีคนโดะ มาริเอะ ไม่เน้นกำไร แม่ค้าขายเท
ตุ๊กตาและของเล่น
กระเป๋าสตางค์และของแบรนด์เนม ราคา 500-1,000 เยน แล้วแต่สภาพ
กระโปรง 2 ตัวซ้ายราคาตัวละ 100 เยน เสื้อคลุม 200 เยน ที่คาดผม 100 เยน และกางเกง Zara 300 เยน ทั้งหมดนี้สภาพดี 80-90%
เนื่องจากสถานที่และกำหนดจัดงานเวียนไปเรื่อยๆ ควรเช็กตารางก่อนไปนะคะ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mottainai.info/jp/
นอกจากนี้ยังมีตลาดนัดอื่นๆ ที่เน้นขายของเก่า จัดตามวัด และสวน เช่น Oedo Antique Flea Market แต่ตลาดนัดที่เราว่าน่าสนใจ ได้แก่
-ตลาดของทำมือ Tokyo Flea Market เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2012 จัดแค่ 2 ครั้งต่อปี ในเดือนพ.ค.และ พ.ย. มีค่าเข้างาน 800 เยน เน้นของแฮนด์เมด งานขายไอเดียตามธีมของงาน และไม่ได้มีแค่สินค้าจากญี่ปุ่น แต่ยังรวมสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ากับธีมงานครั้งนั้นๆ จัดที่ Showa Kinen Park เดินทางโดย JR Chuo Line (สายสีส้ม) ลงสถานี Tachikawa ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://tokyonominoichi.com/2019_autumn/ (เว็บไซต์จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามการจัดงานครั้งใหม่ ครั้งต่อไปเป็นครั้งที่ 17 ในปี 2020)
-ตลาด Yoyogi Flea Market นานๆ จะมาที แต่เขาไม่ได้มาเล่นๆ และเนื่องจากสถานที่จัดงานคือสวนโยโยงิ ใกล้ฮาราจูกุ พ่อค้าแม่ค้าเลยเป็นวัยรุ่นโดยส่วนใหญ่ ของที่วางขายแจ่มแมวมาก เป็นเสื้อผ้าที่จะยังอยู่ในเทรนด์ หรือของเก่ามีมูลค่าน่าสะสม แถมยังเป็นตลาดนัดที่เก่าแก่ที่สุดในโตเกียว จัดมาตั้งแต่ปี 1981 มีแผงมากถึง 800 แผง เรียกว่าเดินกันทีใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่คุ้มค่ากับการตัดสินใจมาแน่นอนค่ะ เช็กตารางได้ที่ https://tokyocheapo.com/events/yoyogi-park-flea-market/
เดินทางโดยนั่งรถไฟ Yamanote ลงสถานี Harajuku เดินต่ออีก 220 เมตร หรือรถไฟใต้ดิน metro สาย Fukutoshin Line (สีน้ำตาล) และ Chiyoda Line (สีเขียว) ลงสถานี Meiji-Jingumae เดินต่ออีก 320 เมตร
-Maronouchi Street Market by Creema เป็นตลาดปิดถนนที่ Marunouchi Naka-dori ยาวไปจนถึง Yurakucho มีจำนวนประมาณ 60-70 แผง เปิดเวลา 11.15-16.30 น. เน้นขายของงานคราฟต์ เช่น งานแฮนด์เมดจำพวกเครื่องประดับเป็นส่วนใหญ่ ของแต่งบ้าน งานเซรามิก จนถึงผลิตผลทางการเกษตรวางขายด้วย ไม่ได้มีจัดทุกสัปดาห์ ต้องติดตามกำหนดการจัดงานที่ https://www.creema.jp/ (ภาษาญี่ปุ่น)
(image via photo-ac.com)
ความสนุกของตลาดนัดคือการได้คุ้ยหาไอเท็มที่เราต้องการ เหมือนได้ล่าสมบัติ แต่ก็ต้องรีมาร์กไว้ว่าขึ้นกับดวงสูงมากว่าเราจะเจอแม่ค้าพ่อค้ารสนิยมคล้ายๆ เราไหม เทคนิคในการช็อปของเรา (เน้นเสื้อผ้า) ที่ไม่อยากจะเดินตามดวงคือ
1. เราไปตั้งแต่เช้าเลย ตั้งแต่ตลาดเปิด เอาให้แน่ใจว่าจะได้เห็นไอเท็มชิ้นเด็ดตั้งแต่แรก ไม่มีใครมาพรากไอเท็มนี้ไปจากเรา
2. ถ้ารู้สึกว่าการแข่งขันมันสูง คนหลั่งไหลมาช็อปเยอะ เราจะสแกนดูการแต่งกายของแม่ค้าก่อน เพราะบางทีเค้ายังเอาของออกมาวางไม่ครบ แต่การแต่งตัวของแม่ค้าจะบอกได้ว่าเราไปด้วยกันได้ไหม ไซส์ได้หรือเปล่า รสนิยมคล้ายกันไหม แล้วเวลาของที่เอาออกมาวางก็มักจะแมตช์กับความต้องการของเรา
3. เตรียมถุงผ้าสำหรับใส่ของที่ช็อปมา (หรือกระเป๋าเดินทางไม่เกิน 20 นิ้ว) วันนั้นอย่าแต่งตัวเยอะ อย่าจัดแบรนด์เนม เพราะเรามักไม่ค่อยมีสติเวลาช็อป อาจป้ำๆ เป๋อๆ ลืมของได้ ควรแต่งตัวให้รัดกุม (ซีเรียสยิ่งกว่าไปลุยหิมะ เตรียมตัวพร้อมกว่าปีนเขา) แนะนำใช้เป้ค่ะ เพราะเราควรมีมือพอจะถือของที่เราช็อปมาได้
4. สุดท้ายเราควรมีสติเวลาช็อปค่ะ การจะคิดถึงเงินในกระเป๋าคงทำไม่ได้เพราะของมันถูกมาก ช็อปแล้วไม่เสียดายเงิน แต่ให้คิดถึงภาระที่ต้องแบกของที่ช็อปมาไปเที่ยวต่อในวันนั้น (ถ้าตลาดไม่ได้ใกล้โรงแรม) หรือที่สำคัญคือการจะยัดของเหล่านั้นไปในกระเป๋าเดินทางอย่างไร อย่าคิดแค่ว่าเรามีไพ่ลับคือถุงสุญญากาศเพื่อลดความฟูของไอเท็มที่ช็อปมา แต่อย่าลืมว่าไพ่ลับเป็นสิ่งที่ใช้ได้ครั้งเดียว ถ้าเราปลอบใจด้วยข้ออ้างนี้ทุกครั้งที่ช็อประวังจะเจอแคมเปญระเบิดกระเป๋าที่สนามบิน หรือต้องเข้าห้องดำปรับค่าน้ำหนักกระเป๋านะคะ
-ที่ตลาดนัดสามารถต่อราคาได้นะคะ ถ้าพูดญี่ปุ่นไม่ได้ก็พิมพ์ตัวเลขใส่เครื่องคิดเลขยื่นให้แม่ค้าดูได้ค่ะ
-ควรไปแต่เช้า ช่วงพีคของตลาดนัดจะอยู่ที่ 10 โมงถึงก่อนเที่ยง จะได้เลือกของดีๆ สวยๆ ได้ แต่ถ้าเน้นถูก ไม่ได้มายด์เรื่องดีไซน์มาก แนะนำมาช่วงใกล้ตลาดวายค่ะ บ่ายๆ พ่อค้า-แม่ค้าจะขายเทเพราะไม่อยากแบกของกลับบ้าน จะถูกกว่าตอนช่วงตั้งแผงมาก ลดไปอีก 200-300 เยน
-เช็กตารางตลาดนัดในโตเกียวทั้งหมดได้ที่ https://trx.jp/consumersMarkets.xhtml , https://www2.recycler.jp/schedule.php