ภาพ: The New York Times
ในปี 2551 จีนประสบปัญหาขยะพลาสติก เนื่องมาจากในขณะนั้นจีนกำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างหนักให้ทัดเทียมมหาอำนาจตะวันตก ร้านค้าปลีกแจกถุงพลาสติกกันเป็นปกติ และถุงก็ทั้งน้ำหนักเบา ปลิวหรือหล่นหายง่ายมาก ขยะพลาสติกจึงเกลื่อนกลาดตามถนนหนทาง จนมีชื่อเล่นวิกฤตขณะนั้นว่า “มลภาวะสีขาว” (หมายถึงสีถุงพลาสติก) รัฐบาลจึงต้องเทกแอ็กชั่นแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สั่งแบนถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งและประกาศให้ร้านค้าปลีกเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกชนิดหนาและคิดราคาค่าถุงด้วยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเลิกบริโภคถุงพลาสติก
ภายใน 1 ปีหลังจากนั้น ด้วยการดำเนินงานอย่างเข้มงวด จำนวนถุงพลาสติกที่ใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกจึงลดลงเกือบ 70%
อย่างไรก็ตาม อีกสิบปีต่อมา ในปี 2561 ดูเหมือนว่ามาตรการนี้จะเริ่มย่อหย่อนลง สถานการณ์ปัญหาขยะพลาสติกเริ่มกลับมาอีกครั้ง China Zero Waste Alliance สมาคมด้านสิ่งแวดล้อมของจีนสำรวจร้านค้าปลีกประมาณ 1,000 ร้านใน 9 เมืองใหญ่ของจีน อาทิ ปักกิ่ง เสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ พบว่ามีเพียงร้านค้า 17% ที่คิดค่าถุงพลาสติก นอกนั้นแจกฟรีทั้งหมด
Sun Jinghua ตัวแทนขององค์กรวิเคราะห์ว่า “บรรดาร้านค้ามองร้านอื่นๆ เป็นคู่แข่ง หากร้านใดร้านหนึ่งคิดค่าถุงพลาสติก แล้วร้านอื่นไม่คิด เท่ากับร้านนั้นฆ่าตัวเองตาย ย่อมเสียลูกค้าไปให้ร้านคู่แข่งแน่นอน จริงอยู่ว่าภาครัฐก็พยายามตรวจสอบ ควบคุมให้ร้านค้าทำตามนโยบายลดถุงพลาสติก แต่ภาครัฐก็สอดส่องได้แต่ซูเปอร์ขนาดใหญ่ ร้านค้าปลีกขนาดกลางหรือเล็กลงมาก็หลุดรอดพ้นสายตาไปได้ไม่ยาก”
อีกปัจจัยที่ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกยังคงดำรงอยู่คือราคาถุงพลาสติกในปัจจุบันถือว่าถูกเกินไป ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกขายถุงพลาสติกในราคา 0.1-0.4 หยวน ซึ่งเป็นราคาตั้งต้นที่รัฐประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อนในช่วงมาตรการสงครามขยะพลาสติก แต่ตอนนี้รายได้ต่อหัวของชาวจีนเพิ่มมากขึ้นแล้ว การจ่ายเงินเพื่อซื้อถุงราคานี้จึงเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมาก ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้คนงดเว้นการใช้ถุงพลาสติก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรจะขึ้นราคาค่าธรรมเนียมถุงให้เป็น 1 หยวน (ประมาณ 5 บาท) จะดีกว่า
ราคาถุงพลาสติกขนาดต่างๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ต
โควิด-19 ก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกอีกปัญหาหนึ่ง นั่นก็คือขยะฟู้ดเดลิเวอรี เพราะผู้คนต้องปฏิบัติตามมาตรการ social-distancing หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น จึงหันมาพึ่งพาแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรีสั่งอาหารหรือของสดเข้าบ้านแทน
อันที่จริงแล้วแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรีเริ่มเป็นที่นิยมมาหลายปีแล้ว พอโควิดระบาดยิ่งบูมหนัก ยักษ์ใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบากระโจนเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดยิ่งช่วยกระพือให้การแข่งขันดุเดือดยิ่งขึ้น
เมื่อตลาดเดลิเวอรีโตมากขึ้น ร้านอาหารแต่ละร้านก็ยิ่งต้องแย่งชิงลูกค้า ทางออกคือความพยายามคิดหาวิธีการรักษาคุณภาพและรสชาติอาหารให้ใกล้เคียงกับการทานที่ร้านให้มากที่สุด หลายร้านเพิ่มบรรจุภัณฑ์ กล่องข้าว ชามกระดาษ ถ้วยน้ำจิ้ม สั่งอาหาร 1 อย่าง แยกบรรจุภัณฑ์หลายชิ้นเพื่อรักษารสชาติอาหาร ผลคือปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น สำนักข่าวจีนรายงานว่าบริการส่งอาหารใช้จานชามถ้วยบรรจุอาหารถึง 3.27 ชิ้นต่อออเดอร์ ซึ่งเมื่อดูสถิติในเดือนสิงหาคมของแอพเดลิเวอรี่เจ้าใหญ่ที่สุดในจีนซึ่งมีออเดอร์ถึง 40 ล้านออเดอร์ต่อวัน เท่ากับว่าจะมีขยะเดลิเวอรี่เฉลี่ยมากถึง 120 ล้านชิ้นต่อวันเลยทีเดียว
เมื่อต้นปีนี้ รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศนโยบายแบนการใช้ถุงพลาสติกในร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองหลักของจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น ฯลฯ และตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ แถมยังจะแบนการใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหาร และลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ได้ 30% ภายใน 5 ปีข้างหน้า
หลังรัฐบาลประกาศแคมเปญ ดูเหมือนว่าเมืองใหญ่ๆ จะตอบสนองตามนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลายครั้งเมื่อรัฐบาลกลางออกนโยบายกว้างๆ รัฐบาลท้องถิ่นมักจะสร้างกฎเกณฑ์ปฏิบัติกันเอง จนมีสุภาษิตจีนเลยว่า “รัฐบาลกลางออกนโยบาย ส่วนท้องถิ่นจะทำตรงข้ามกับนโยบายนั้น” กลายเป็นว่าธุรกิจขนาดเล็กอาจจะเล็ดลอดจากการตรวจสอบของรัฐบาลกลางและปัญหาขยะพลาสติกคงไม่สามารถจะแก้ไขได้ง่ายๆ ตราบใดที่โควิด-19 ยังดำรงอยู่ และพฤติกรรม ความเคยชินของผู้คนยังคงเดิม
แปล สรุป และเรียบเรียงจาก
https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/backstories/1299/