ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นทะลุ 36 ล้านคน คนชราอายุ 100+ ปีมีมากกว่า 80,000 คนแล้ว

4,233
Screen Shot 2563-09-21 at 12.30.07 AM

ภาพ : Kyodonews


ญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นสังคมคนชรา มีสัดส่วนจำนวนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมดในประเทศมากที่สุดในโลก (ตามมาด้วยอิตาลีและโปรตุเกสตามลำดับ)  รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งประกาศจำนวนประชากรอายุมากกว่า 65 ปีประจำปีนี้ว่าทะลุ 36.17 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากกว่า 300,000 คน ประชากรผู้สูงอายุคิดเป็น 28.7% ของประชากรทั้งหมด

เมื่อสัปดาห์ก่อน กระทรวงสาธารณสุขและแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลอีกว่าประชากรญี่ปุ่นที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปทะลุ 80,000 รายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตอกย้ำปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ปีนี้ประชากรอายุ 100+ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 9,176 คน ทำให้ตัวเลขรวมประชากรอายุเกิน 100 ปีมีมากถึง 80,450 คน และเพิ่มขึ้นทุกปีแบบนี้มาเป็นปีที่ 50 พอดี โดยสัดส่วนผู้หญิงคิดเป็น 88.2% ของประชากรอายุมากกว่า 100 ทั้งหมด (เป็นผู้หญิง 70,975 คน ผู้ชาย 9,475 คน)

ญี่ปุ่นเริ่มสำรวจประชากรอายุมากกว่า 100 ในทศวรรษ 2500s ณ เวลานั้นพบประชากรกลุ่มนี้อยู่เพียง 153 คนทั่วประเทศ แต่กลายเป็นหลักพันคนในช่วงทศวรรษ 2520s และเป็นหลักหมื่นคนในปี 2541 อันเนื่องจากความก้าวหน้าของวิทยาการการแพทย์สมัยใหม่

จากสถิติปี 2562 อายุขัยเฉลี่ยของชาวยุ่นคือ 87.45 ปี (ผู้หญิง) และ 81.41 ปี (ผู้ชาย) ซึ่งถือว่าสูงมากทั้งสองเพศ

Kane Tanaka หญิงชราอายุ 117 ปีชาวฟุกุโอกะเป็นสตรีที่มีอายุยืนที่สุดในญี่ปุ่น กินเนสเวิลด์เรกคอร์ดส์บันทึกไว้ว่าเธอเป็นบุคคลที่อายุยืนที่สุดในโลก ส่วนฝ่ายชายที่อายุยืนที่สุดในญี่ปุ่นคือ Mikizo Ueda ชาวนาระ อายุ 110 ปี

เมื่อพิจารณาแยกรายจังหวัด จังหวัดชิมาเนะมีจำนวนประชากรอายุยืนมากที่สุด คิดเป็น 127.60 ต่อประชากร 100,000 คน ตามมาด้วยจังหวัดโคจิในภูมิภาคชิโกกุ และทตโตริในจูโกกุตามลำดับ

Screen Shot 2563-09-21 at 12.31.28 AM

ภาพ : Kyodonews


นอกจากวิกฤตสังคมผู้สูงอายุแล้ว ญี่ปุ่นยังเผชิญสถานการณ์อัตราการเกิดต่ำ ปี 2562 อัตราการเกิดทั่วประเทศลดลงต่ำกว่า 900,000 คนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 11 แล้ว ในขณะที่จำนวนประชากรอายุมากกว่า 65 ปีกลับคิดเป็น 28.7% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง

โควิด-19 เป็นปัจจัยเสริมซ้ำเติมให้ปัญหานี้เลวร้ายลงด้วย การปฏิบัติตามนโยบาย social-distancing ปัญหาเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางสังคมที่ลดลงอาจส่งผลให้อัตราการเกิดยิ่งลดน้อยถอยลงไปอีกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานและสะท้อนกลับไปยังเศรษฐกิจระยะยาวของญี่ปุ่นในที่สุด ภาคเอกชนคาดการณ์ไว้ว่าเด็กเกิดใหม่ในปีหน้าอาจต่ำกว่า 700,000 คน

ญี่ปุ่นเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นอัตราการเกิดในต้นทศวรรษ 2530s เมื่อย้อนกลับไปปี 2532 อัตราการเกิดลดเหลือเพียง 1.57 ซึ่งนับว่าต่ำมาก รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหานี้ เช่น สร้างโรงเรียนเนอร์สเซอรี่เพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่ายตรวจครรภ์ ออกแคมเปญช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเลี้ยงเด็ก ทว่ามาตรการเหล่านี้ก็ไม่เป็นผลอยู่ดี อัตราการเกิดใหม่ยังคงไม่กระเตื้อง ปี 2548 อัตราการเกิกตกไปเหลือแค่ 1.25 และเริ่มเพิ่มมาเป็น 1.45 ในปี 2558 แต่หลังจากนั้นก็ลดลงมาเรื่อยๆ ติดต่อกันมา 4 ปีจนเหลือ 1.36 ในปีที่แล้ว

เมื่อเดือนพฤษภาคมคณะรัฐมนตรีเพิ่งผ่านแนวนโยบายกระตุ้นอัตราการเกิดให้เป็น 1.8 โดยมีแผนมาตรการ อาทิเช่น รัฐบาลเพิ่มเงินช่วยเหลือบุตร สนับสนุนให้บริษัทมีนโยบายให้พ่อลางานมาช่วยเลี้ยงลูกหลังคลอดใหม่ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายข้าราชการตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะนำเงินมาจากไหนเพื่อใช้จ่ายในแคมเปญนี้

แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศแจกเงินคู่สามีภรรยาแต่งงานใหม่คู่ละ 600,000 เยน (จากเดิมแจก 300,000 เยน) และยังปรับเกณฑ์อื่นให้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น อายุต่ำกว่า 40 ปี และได้รายรับรวมกันทั้งคู่สามีภรรยาไม่เกินปีละ 5.4 ล้านเยน (จากเดิมต้องอายุต่ำกว่า 35 ปี และรายรับรวมต่ำกว่า 4.8 ล้านเยน) นโยบายนี้จะเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2564 โดยรัฐบาลหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ สังคมผู้สูงอายุ และการขาดแคลนแรงงาน


แปล สรุป และเรียบเรียงจาก

https://english.kyodonews.net/news/2020/09/5bee07ac1ea0-centenarians-top-80000-for-1st-time-in-rapidly-aging-japan.html

https://www.japantimes.co.jp/news/2020/08/18/national/social-issues/birth-rate-aging-crisis-coronavirus/

https://english.kyodonews.net/news/2020/09/a959cab43647-japan-newlyweds-can-receive-up-to-600000-yen-to-start-new-life.html


Monthefatcat